วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ประท่วงไล่ ทักษิณ

สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร บทเพลงประท้วงที่ยังไม่เสร็จศึกก็ยังสรุปอย่างจริงจังไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์ต่างๆ ของดนตรีและบทเพลงที่เกิดขึ้นจะไปสิ้นสุดลงที่ใด และบันทึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมในมุมไหน
การประท้วงขับไล่นายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการชุมนุมในแบบอารยะขัดขืนของม็อบกู้ชาติที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และท้องสนามหลวง รวมถึงในจังหวัดต่างๆ หลายภูมิภาคทั่วทั้งประเทศไทยในการเรียกร้องให้นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่ง ‘เอาประเทศไทยคืนมา’ จากการโกงกินคอร์รัปชั่นที่ตะกรุมตะกรามขาดศีลธรรมจรรยา
เพราะจริยธรรมในใจของผู้นำที่ไม่หลงเหลืออยู่ จากผู้คนที่มีเพียงไม่กี่พันไม่กี่หมื่นคนจากการเปิดเวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ได้กลับทบทวีสูงขึ้นเป็นหลักหลายแสนคนอย่างไม่น่าเชื่อจากการมาชุมนุมรวมพลังขับไล่นายกฯ ที่โกงกินบ้านเมืองในแบบโคตรานุวัตรให้ออกไป
พลังอันบริสุทธิ์ของประชาชนเหล่านี้กู่ก้องจนแผ่แพร่ขยายไปทั่วทุกหัวระแหงของแผ่นดินไทย และทำให้เมืองไทยแบ่งแยกเป็น 3 ฝ่าย และแบ่งออกเป็น 3 ส่วนตามภูมิภาคต่างๆ ได้ดังนี้
1. ฝ่ายไล่และต่อต้านระบอบทักษิณเพื่อปฏิรูปการเมืองโดยขอนายกฯ และรัฐบาลพระราชทานตามมาตรา 7 ที่เปิดช่องไว้ของรัฐธรรมนูญยามบ้านเมืองวิกฤต โดยมีเสียงร้องขับไล่ประจำการชุมนุมประท้วงว่า “ทักษิณ…ออกไป” จนคุกรุ่นถึงขนาดใช้คำว่า “ทักษิณ…เอี้ยๆๆๆๆๆๆ” ประชาชนเหล่านี้อยู่ในกรุงเทพฯ และ 14 จังหวัดภาคใต้เป็นฐานที่มั่นสำคัญ อาจขยายรวมจังหวัดในภาคตะวันตกเป็นบางจังหวัด
2. ฝ่ายสนับสนุนและร่วมขับขานเสียงให้พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกฯ รักษาการและหัวหน้าพรรคไทยรักไทยยืนหยัดอยู่ต่อไป ก็มีเสียงร้องประจำกลุ่มก้อนคือ “ทักษิณสู้ๆ” ประชาชนเหล่านี้มีฐานบัญชาการอยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือและภาคอีสานทั้งหมด รวมถึงกลุ่มคนขับแท็กซี่ สามล้อ วินมอเตอร์ไซค์ และคนใช้แรงงานที่มีพื้นเพต่างจังหวัดจากภาคเหนือและอีสาน
3. ฝ่ายเป็นกลางจนถึงฝ่ายกลางตกขอบ ซึ่งคล้ายกับเป็นผู้สังเกตการณ์ มองดูเหตุการณ์และความเป็นไป พร้อมที่จะยอมรับฝ่ายไหนก็ได้ไปตามครรลองที่จะเกิดขึ้นและดำเนินไป ประชาชนเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคตะวันตก
เมื่อบ้านเมืองไทยได้ถูกแบ่งประชาชนออกเป็น 3 ก๊ก เฉกเช่นเดียวกับในการต่อสู้ทางการเมืองที่แบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายในการเคลื่อนไหวก็คือ ฝ่ายรัฐบาล, ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแนวร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งในเชิงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการแย่งชิงพื้นที่ทางการเมืองก็ต้องทำกันไปตามรูปการและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของแนวทางการต่อสู้ตามหลักการของประชาธิปไตยแบบไทยๆ
สำหรับการต่อสู้ทางการเมืองภาคประชาชนของฝ่ายพันธมิตรประชาธิปไตยเพื่อประชาชนนั้นมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการชุมนุมประท้วงอย่างสงบเรียบร้อยโดยปราศจากความรุนแรงภายใต้หลัก ‘สงบ สันติ อหิงสา’
ในความสงบเรียบร้อยนั้น ย่อมต้องมีเงื่อนไขของการจัดระบบการชุมนุมประท้วงที่ดี ซึ่งปัจจัยหนึ่งในกระบวนการก็คือ ดนตรีและบทเพลง ซึ่งถือเป็นแนวรบทางวัฒนธรรมที่สำคัญ รวมถึงสามารถสร้างความผ่อนคลายในสถานการณ์ที่ตึงเครียดให้กลับกลายเป็นรื่นรมย์ สนุกสนาน สร้างความฮึกเหิมอย่างสบายใจ
เพราะฉะนั้น บทเพลงกู้ชาติที่เกิดขึ้นตามวาระและสถานการณ์ ได้แสดงตัวตนเป็นปฏิปักษ์กับความไม่ชอบธรรมที่เกิดจากน้ำมือผู้บริหารประเทศ รวมถึงสะท้อนภาพของสังคมที่อยู่ในช่วงเวลาปัจจุบันออกมาได้อย่างน่าทึ่ง
บทเพลงกู้ชาติที่เกิดขึ้นจึงอยู่ในฐานภาพของ ‘บทเพลงประท้วง (Protest Songs)’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยบทเพลงเหล่านี้เป็นความแนบแน่นที่แยกหมวดหมู่บทเพลงประท้วงเป็น ‘บทเพลงทางการเมือง (Political Songs)’ ไปอีกโสตหนึ่งด้วย
ในบริบทของสังคมไทยขณะนี้ บทเพลงกู้ชาติเหล่านี้ทำหน้าที่ได้อย่างทรงพลังแค่ไหน สามารถปลุกให้ผู้คนมีความรู้สึกร่วมในการต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมของเผด็จการรัฐสภา และน้อมรับอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองได้สักแค่ไหน

จุดเริ่มต้น

ค้นหานัยทางสังคมกับ ‘บทเพลงคนกู้ชาติ’ เวทีเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร
ไม่ว่าครั้งไหนเมื่อประเทศถึงวิกฤต สถานการณ์บ้านเมืองตึงเครียดขมวดเกลียว การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ และความไม่เป็นธรรมล้วนหนักหนาสาหัสสากรรจ์ การขยับเคลื่อนไหวในทุกด้านย่อมมีความสำคัญทั้งสิ้น
การชุมนุมขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกฯ ของประเทศไทยเป็นไปอย่างเข้มข้นต่อเนื่องและยาวนาน ท่ามกลางความร้อนระอุของการประท้วงและแฉข้อมูลการบริหารประเทศของนายกฯ คนนี้ที่มีการทุจริตโกงกินอย่างผิดจริยธรรม และศีลธรรมจรรยา โดยแกนนำของเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ในการรวมหมู่ชนจำนวนเยอะที่มารวมตัวกันในสถานที่เดียวกันเป็นจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสนคน หากมีการไฮปาร์คเพียงอย่างเดียวก็น่ามีความตึงเครียดเขม็งเกลียวกันพอสมควร
การขับเคลื่อนด้วยกระบวนการทางศิลปวัฒนธรรมก็ย่อมมีความจำเป็นอย่างสูงในการหลอมรวมความรู้สึกของมวลชนให้เป็นเอกภาพ และมีเป้าหมายเดียวกัน
ดนตรีและบทเพลงจึงมีความสำคัญในการซอนแทรกลงไปในความรู้สึกของฝูงชนที่มาชุมนุมร่วมกัน เป็นการปลุกเร้าอารมณ์และสื่อสารความหมายให้แก่กัน
ตั้งแต่มีรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสวนลุมฯ จนมาถึงม็อบกู้ชาติ ‘เอาประเทศไทยของเราคืนมา’, ‘ไม่ชนะ ไม่เลิก’ ของเหล่าประชาชนที่มาด้วยพลังบริสุทธิ์ในการขับไล่ทักษิณให้ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ในช่วงเริ่มต้นมีการบันทึกเสียงแผ่นซีดี 4 บทเพลง ‘บทเพลงคนกู้ชาติ’ ออกมา ซึ่งเปรียบเสมือนการบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านบทเพลง โดยนำเอางานที่เริ่มต้นในยุคแรกๆ ของการชุมนุมผ่านรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรมารวมกันไว้
บทเพลงเหล่านี้ มีเนื้อหาที่แสดงให้เห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแจ่มชัด สามารถวัดได้ถึงมุมมองของความคิด อุณหภูมิของการต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนที่โดดเด่น
‘เทียนแห่งธรรม (ขอเป็นยามเฝ้าแผ่นดิน)’ ของเทียรี่ ลาสเวกัส หรือเธียรพงศ์ พลอยเพชร ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นธีมหลักของการกู้ชาติ ถือเป็นเพลงในเชิงสัญลักษณ์ที่ใช้ถ้อยคำที่แรง ตรงไปตรงมา แต่มีพลังของถ้อยคำและความคิดที่อันเป็นเอกภาพในการปลุกเร้าให้ประชาชนมารวมตัวรวมพลังเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรม
ในเนื้อเพลงมีการนำ ‘พระธรรมกับแสงเทียน’ มาเป็นสัญลักษณ์ซึ่งเห็นภาพพจน์ได้ชัด เป็นตัวแทนในการต่อสู้กับเหล่ามารเกาะกัดกินบ้านเมืองอยู่ เทียนเล่มน้อยๆ ที่จะมาหลอมรวมจนเป็นดวงใหญ่มหาศาลเพื่อเผาผลาญสิ่งเลวร้ายให้หมดไป เป็นการอุปมาอุปไมยที่เรียบง่ายเด่นชัด ทว่าทรงพลังเป็นอย่างสูง
ความโดดเด่นในเนื้อหาของเพลงอยู่ที่การใช้ภาษาที่มีสัมผัสนอกสัมผัสในที่ลงตัว คล้องจองกันไปทั้งเพลง สามารถเชื่อมร้อยความคิดองค์รวมทั้งหมดออกมาอย่างน่าสนใจ มีท่อนแยกและท่อนฮุกของเนื้อเพลงที่ฟังแล้วติดหูจดจำได้ง่าย และร้องตามได้ไม่ยาก
ดนตรีที่ใช้เป็นเพลงพ็อพร็อคที่มีท่วงทำนองอันไพเราะ โดยเฉพาะการใช้เสียงเปียโนเป็นตัวนำเมโลดี้ไล่ล้อไปกับถ้อยคำที่สื่อความหมายออกมาในตัวเพลง โดยเฉพาะในท่อนโซโล่กีตาร์สามารถตรึงและดึงคนฟังให้ฮึกเหิมมีพลังซึมซาบเข้าไปอย่างไม่รู้ตัว
นับว่าเป็นบทเพลงที่ปลุกระดมผู้คนให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอธรรมได้อย่างนุ่มลึก และละเมียดละไม
‘2548’ เป็นบทเพลงที่เขียนคำร้อง-ทำนอง และขับร้องโดย สุรชัย จันทิมาธร หรือหงา คาราวาน ต้นธารตำนานเพลงเพื่อชีวิตที่ยังมีลมหายใจอยู่ บทเพลงนี้จะเห็นถึงความเชี่ยวกรำ ความเจนจัดที่ลึกซึ้งของกวีในเสียงเพลง รวมถึงความคิดที่มีมิติซับซ้อนในการสร้างสัญลักษณ์มาบอกกล่าวที่ต้องตีความในอีกชั้นหนึ่ง เอาแค่ชื่อเพลงของมีนัยทางสังคมที่เข้มข้นอยู่ในตัวเองแล้ว
ความน่าสนใจของบทเพลงนี้ก็คือ การเขียนขึ้นสดๆ เล่นคลอด้วยกีตาร์ ซึ่งเป็นงานที่อยู่ในขนบความถนัดของหงา คาราวานอยู่แล้ว บทเพลงนี้ฟังผิวเผินดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่จริงๆ แล้วสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดที่หมักบ่มมายาวนาน มีความคมคายในชั้นเชิงของความคิด และการตั้งคำถามที่ทันต่อยุคต่อสถานการณ์ของบ้านเมือง
อัตลักษณ์ในบทเพลงแบบหงา คาราวาน คงไม่ต้องเท้าความหรืออรรถาธิบายกันมากนัก เพราะบทเพลงที่เขาร้องล้วนออกมาจากความรู้สึกที่มาจากข้างใน แล้วปล่อยให้หลั่งไหลออกมาเชื่อมโยงร้อยรัดกับมวลชน
‘2549’ ก็เป็นบทเพลงเดียวกับ ‘2548’ แต่นำมาเปลี่ยนเนื้อเพลงเพียงเล็กๆ น้อย ให้มีถ้อยคำที่กินความสละสลวยมากยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้ทีมดนตรีเล่นด้วยเครื่องดนตรีไฟฟ้าแบบเต็มวง โดดเด่นและเอื้อนเอ่ยอารมณ์ด้วยแอคคอร์เดี้ยนที่โชยออกมาจรุงใจ
บทเพลงสุดท้าย ‘สนธิมาแล้ว’ ถือว่าเป็นทางเพลงในแบบของ มีศักดิ์ นาครัตน์ ที่นำดนตรีในแบบละตินพ็อพ ซึ่งแพรวพราวด้วยเสียงเครื่องเป่าทองเหลืองหรือบราสส์ (Brass) ที่สอดประสานล้อขัดไหลเล่นไปกับเพอร์คัสชั่นหรือเครื่องเคาะ รวมถึงเสียงกีตาร์ที่ร้อนแรงฮึกเหิมด้วยอัตราเร่งชวนขยับแข้งขา
เนื้อหาของเพลงก็แต่งง่ายๆ บอกกันแบบตรงๆ ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น และเห็นภาพได้ไม่ยากว่า สนธิ ลิ้มทองกุลจะมาเปิดโปงเรื่องโกงกินคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ ถือเป็นเพลงที่ฟังสนุกสนาน คึกคัก และรอบจัดทีเดียว
ทั้ง 4 บทเพลง ในงานชุด ‘บทเพลงคนกู้ชาติ’ ได้สื่อแสดงให้เห็นการต่อสู้ของประชาชนที่กำลังเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าไป เพราะบทเพลงที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลาและเหตุการณ์เฉพาะหน้าอย่างเพลงปลุกระดมหรือเพลงประท้วงจะมีลักษณะเด่นอยู่ที่การอิงแอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมที่จะรับใช้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ในการบรรลุภารกิจ และถือเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของสังคม-การเมืองผ่านบทเพลงไปในตัวด้วย
หากตั้งข้อสังเกตในเชิงนัยทางสังคมของบทเพลงเหล่านี้ จะเห็นได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกพัฒนาการทางความคิดว่า เป็นการต่อสู้ในเชิงปัญญาที่ซับซ้อนมากกว่าที่จะโหมกระหน่ำต่อสู้ปลุกระดมหรือปลุกม็อบกันเพียงอย่างเดียว แต่จะเห็นวิธีคิดที่เนิบนุ่มแนบเนียนในการส่งสารไปถึงมวลชน ไม่มีความก้าวร้าวรุนแรงแบบสุดขั้ว แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มาร่วมชุมนุมกู้ชาติในยุคแรกๆ ล้วนเป็นชนชั้นกลางที่มีมาตรวัดทางความคิดในอีกแบบ ซึ่งบทเพลงที่เขียนออกมาก็สะท้อนได้ชัดเจน
เมื่อขบวนการของม็อบกู้ชาติเริ่มขยายตัวเป็นเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็มีบทเพลงตามมาอีกเป็นขบวน จากศิลปินอย่าง เศก ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง, โฮปแฟมิลี่, ฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์, คีตาญชลี, วสันต์ สิทธิเขตต์, ไก่ แมลงสาบ, ด้ามขวาน, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์, ซูซู, ชัย บลูส์, แฮมเมอร์, รังสรรค์ ราศี-ดิบ, มาลีฮวนน่า, วงไทลากูน, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ฯลฯ
บทเพลงประท้วงเหล่านี้ ล้วนร้อนแรงมากขึ้นท่ามกลางกระแส ‘ไล่ทักษิณออกไป’ โดยผ่านออกมาจากจิตสำนึกทางสังคม-การเมืองของเหล่าศิลปินที่กอปรรวมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน

พลังขับเคลื่อน

สำรวจแถวศิลปินเพลงกู้ชาติ-ถ่ายเทจิตวิญญาณประชาธิปไตย-สืบทอดจิตสาธารณะเพื่อสังคมดีงาม
ชีวิตก็คือความเปลี่ยนแปลง การพยายามเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนั้นยาก แต่การยอมรับความเปลี่ยนแปลงนั้นยากกว่า…
หลายครั้งที่มองสภาพของผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมือง ตกอยู่ในอำนาจของ ‘อำนาจ’ อย่างถอนตัวไม่ขึ้น แล้วจะมีใครสักกี่คนที่สามารถเลือกที่จะเป็นอิสระจาก ‘อำนาจ’ ที่ตนเองสร้างขึ้นมา
ความหลากหลายพร่างแพร้วของบทเพลงกู้ชาติที่ไม่จำกัดอยู่ในขอบข่ายหรือกรอบของบทเพลงเพื่อชีวิตได้ไหลถาโถมออกมามากมาย ไม่จำเพาะนักร้องนักดนตรีที่ขึ้นเวทีกู้ชาติทั้งเวทีที่สวนลุมพินี, ลานพระบรมรูปทรงม้า, สนามหลวง, หน้าทำเนียบ, สะพานมัฆวานฯ และที่สยามพารากอนเพียงเท่านั้น
แต่บทเพลงกู้ชาติไล่ทักษิณกลับมีพลังขับเคลื่อนที่น่าสนใจยิ่ง ด้วยการอาศัยเครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่คือ การขึ้นเพลงเผยแพร่ให้ดาวน์โหลดทางอินเทอร์เน็ต เป็นแนวรบทางศิลปวัฒนธรรมในโลกไซเบอร์สเปซอย่างแท้จริง
บทเพลง ‘ไอ้หน้าเหลี่ยม’ ที่เขียนเนื้อร้อง-ทำนอง-ขับร้อง โดยสุวรนต์ ถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญมาก เพราะสามารถกึกก้องและได้รับแรงตอบรับอย่างมหาศาลจากคนฟังเพลง แม้จะมีช่องทางเผยแพร่เพียงจำกัด แต่สามารถทะลุทะลวงสร้างความนิยมได้ไม่แพ้เพลงฮิตตามคลื่นวิทยุต่างๆ เพราะถูกเรียกหากันมากที่สุด แม้จะไม่มีช่องทางเปิดออกอากาศตามสถานีวิทยุหรือสถานีโทรทัศน์ในวงกว้างก็ตาม
นี่คือพลังอำนาจของดนตรีและบทเพลงที่สามารถปลุกเร้าความรู้สึกและอารมณ์ร่วมของผู้คนในสังคมให้น้อมนำไปสู่เป้าประสงค์หรือจุดหมายเดียวกัน
พัฒนาการที่เห็นได้ชัดถึงการก้าวล่วงสู่ความเป็นบทเพลงที่ก้าวข้ามสู่ความเป็น ‘จิตสำนึกสาธารณะ’ นั้น ไม่ได้อยู่ที่การเลือกข้างว่าอยู่ฝ่ายไหน
จากบทเพลงแบบเดิมๆ ที่เรียกกันว่า ‘เพลงเพื่อชีวิต’ ที่มีคำนิยามและจัดหมวดหมู่ รวมถึงการทำการศึกษาเพื่อเขียนประวัติศาสตร์เพลงเพื่อชีวิตไว้ค่อนข้างชัดเจนในช่วงระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการผูกโยงอยู่กับอุดมการณ์และอุดมคติทางการเมืองเพื่อนำไปสู่สังคมที่เท่าเทียมเสมอภาค และเป็นธรรม
นอกจากนี้บทเพลงเพื่อชีวิตยังแยกไม่ออกกับศิลปะเพื่อชีวิตเพื่อประชาชน ที่ ‘ทีปกร’ หรือจิตร ภูมิศักดิ์ นำมาเผยแพร่และกลายเป็นจำหลักและโคมทองส่องนำให้บทเพลงเพื่อชีวิต
แน่นอนบทเพลงเพื่อชีวิตได้คลี่คลายและปรับเปลี่ยนตัวไปตามบริบททางสังคม รวมถึงสถานการณ์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจอย่างแยกกันไม่ออก ในหลายช่วงเวลาจะแปรผันไปตามความระอุร้อนแรงทางการเมืองอย่างเข้มข้น การก่อเกิดของคำนิยามของบทเพลงเพื่อชีวิตก็รับอิทธิพลมาจากบทเพลงประท้วงที่เล่นด้วยดนตรีโฟล์ก และดนตรีโฟล์กร็อกจากยุคบุปผาชนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนได้เด่นชัด
ต่อมาก็เริ่มรับอุดมการณ์ทางการเมืองจากสายทางของสังคมนิยมอย่างเข้มข้นจนกลายเป็นบทเพลงของชนชั้นกรรมาชีพที่เข้มข้น เมื่อโดนล้อมปราบจนเข้าไปอยู่ในป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) บทเพลงเพื่อชีวิตก็หันไปรับใช้อุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเด่นชัด จนกลายเป็นเพลงป่าหรือเพลงปฏิวัติ เป็นกระบอกเสียงอีกด้านให้ฝ่ายซ้ายหรือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อยู่ในสังกัดของสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ที่ไม่สามารถมีพื้นที่กระจายเสียงในสังคมวงกว้างของสังคมไทย
ในอีกทาง บทเพลงของฝ่ายรัฐบาลที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์หรือบทเพลงของฝ่ายขวา ซึ่งอยู่ในขอบข่ายของบทเพลงชาตินิยมก็ถูกผลิตออกมา และถูกใช้เป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ รวมถึงสถานีวิทยุทั้งหมดที่อยู่ภายใต้การควบคุมของภาครัฐ โดยเฉพาะสถานีวิทยุของทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมถึงตำรวจ ที่ใช้บทเพลงเหล่านี้ในการเผยแพร่ด้วยนโยบายการรักษาความมั่นคงของชาติ
หลังจากนโยบาย 66 / 2523 บทเพลงเพื่อชีวิตก็กลับมาอีกครั้ง และสามารถประยุกต์ปรับแปลงระบบความคิด สร้างสรรค์แนวดนตรีให้เข้าผสานหลอมรวมอย่างแนบแน่นกับสังคมทุนนิยม ผนวกกับการเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรี เรื่องเพลงกลายเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล สามารถสร้างทำรายได้ให้กับศิลปินอย่างเป็นกอบเป็นกำ ถือเป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาที่แปลงเป็นสินทรัพย์ได้ ไม่ใช่บทเพลงเพื่อมวลชนแบบบริสุทธิ์ดุจดังยุคเริ่มต้นของบทเพลงเพื่อชีวิต
ปรากฎการณ์ของผับเพื่อชีวิตจึงเป็นภาพที่แนบแน่นอยู่กับบทเพลงเพื่อชีวิต ด้วยพื้นที่ซึ่งถูกบีบอัดให้แคบลงจากกระแสความนิยมที่หดตัวลงจากตลาดเพลงพ็อพกระแสหลัก เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า บทเพลงเพื่อชีวิตอยู่ในลักษณะที่แช่นิ่งไม่สามารถเขยื้อนก้าวตามสังคมที่ก้าวสู่ลักษณะสังคมของทุนนิยมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นของกระบวนการเสรีนิยมใหม่ และโลกาภิวัตน์ในทุกด้าน
ในปัจจุบัน บทเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะในสายใต้ดิน ซึ่งไม่สามารถมีที่อยู่ที่ยืนในตลาดเพลงกระแสหลักได้ ก็ต้องออกภาคสนามไปฝังตัวอยู่ในขบวนการของภาคประชาชน
กระบวนการกู้ชาติขับไล่ทักษิณ ‘เอาประเทศไทยของเราคืนมา’ ของเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงเป็นการเปิดประตูบานใหญ่ให้กับวงการเพลงเพื่อชีวิตอีกครั้ง และเป็นการทบทวนหรือตรวจแถวบรรดานักร้องและวงดนตรีเพื่อชีวิตไปโดยปริยายด้วย
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กระบวนการผลิตวาทกรรม และผลิตงานเพลงเพื่อรับใช้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น วงเพื่อชีวิตทั้งรุ่นเก่า-กลาง-ใหม่ ได้ผลิตงานเพลงออกมาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อสังคมในวงกว้าง เป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ หรือปากต่อปากได้มากเท่าที่ควร เนื่องด้วยวิธีการเขียนเพลง แนวคิด และดนตรียังมีลักษณะที่อยู่ในกรอบเดิมๆ ยังไม่สามารถทะลุออกมาสู่กลางใจของชนชั้นกลางที่ขยายตัวและมาชุมนุมในการประท้วงครั้งนี้มากที่สุด
ในการประท้วงที่มีผู้คนมาจากพหุสังคม การฉายภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจให้ออกมาคมคาย ทิ่มแทงมากที่สุดเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในยุคทักษิณาธิปไตยที่มีความสลับซับซ้อนวางกลลวงสร้างภาพซ่อนปมเงื่อนไว้มากมาย หมกเม็ดสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างมากมาย ยิ่งเป็นโจทย์ที่ยากเป็นหนักหนา
บทเพลง ‘ไอ้หน้าเหลี่ยม’ ย่อมสะท้อนให้เห็นกรอบความคิดของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่การต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ต่ออุดมการณ์เพื่อก้าวสู่สังคมอุดมคติอีกต่อไป แต่การวิเคราะห์แจกแจง ประมวลรวมปัญหาต่างๆ มาเขียนเนื้อเพลงเพื่อ ‘แฉ’ ความเลวร้ายของผู้นำประเทศที่เป็นอยู่ จึงถูกใจโดนใจคนในวงกว้าง สร้างอารมณ์ให้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
ที่สำคัญภาษาที่ใช้อิงด้วยการพล่ามร้องแบบเพลงแหล่ที่ขับเคลื่อนด้วยดนตรีสมัยใหม่ ภาษาที่ใช้มีคำคล้องจองสัมผัสนอกในจดจำง่าย แม้จะมีเนื้อเพลงที่ค่อนข้างยาวเหยียด แต่สามารถประมวลปัญหาต่างๆ ได้อย่างสนุกและขบขัน ที่สำคัญคือความสัปดี้สัปดนแกมเหน็บแนมเสียดเย้ยที่ถูกโฉลกกับคนไทย
สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เขียนบทความในรายงานพิเศษ เซคชั่นภูมิภาค หนังสือพิมพ์ข่าวสด เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2549 โดยมีในตอนหนึ่งเขียนถึงบทเพลง ‘ไอ้หน้าเหลี่ยม’ ไว้ว่า
“เพลงเพื่อชีวิตที่มีขึ้นใหม่ในช่วงเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ก็มีเป้าหมายคล้ายกัน คือเพื่อสื่อสารกับ"อำนาจ" แต่เปลี่ยนจากอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นอำนาจเหนือเผด็จการทรราช ซึ่งหมายถึงพลังประชาชนพลเมืองเพื่อความเป็นธรรมและเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย
"ไอ้หน้าเหลี่ยม" จะนับเป็นเพลงเพื่อชีวิตในระบอบทักษิณก็ได้ สุดแท้แต่ใครจะอธิบายกันไปแนวไหน? แนวตั้ง-แนวนอน หรือแบบ"เด็กแนว"? แต่จังหวะและท่วงทำนองของเพลง"ไอ้หน้าเหลี่ยม"เป็นลีลาที่ผมคุ้นๆ แต่เรียกไม่ถูก เพราะไม่รู้จัก รู้แต่ว่าลีลาอย่างนี้เคยมีใช้ในเพลงชาวบ้านโบราณของสุวรรณภูมิมาก่อนแล้วนานมาก มีตัวอย่างร้องสับไทในละคร(นอก)ชาวบ้าน หรือบทร้องเบ็ดเตล็ดว่า"โปรดก่อนเจ้าข้า เจ้าข้าโปรดก่อน" บางทีก็ร้องแทรกอยู่ในลำตัด เป็นต้น
เนื้อร้องเพลง"ไอ้หน้าเหลี่ยม" อธิบายได้ด้วยลักษณะ"ด้น" ประเภทคำคล้องจองอันเป็นต้นกำเนิดของร่าย หรือกลอนด้น มีใช้ทั่วไปในพื้นบ้านพื้นเมือง และรู้จักกันดีว่า"เซิ้ง" เช่น เซิ้งบั้งไฟ แห่นางแมว ฯลฯ ต่างกันแต่"ไอ้หน้าเหลี่ยม"ไม่ได้ร้องทีละวรรค และไม่มีลูกคู่
สร้อยในเพลง"ไอ้หน้าเหลี่ยม" เสมือนท่อนสำคัญที่เน้นย้ำหรือ "ฮุค" เพื่อคั่นเนื้อร้องยาวๆ เช่นเดียวกับเพลงฉ่อยคั่นด้วย"เป๊กพ่อ__" หรือลำตัดคั่นด้วย"พรึมๆโจ๊ะพรึมๆ__" แต่หมอลำเรียก "สอย" (คำว่าสอยในหมอลำก็มาจากสร้อยนี่แหละ)”
สำหรับบทเพลง ‘ไอ้หน้าเหลี่ยม’ ได้แสดงเสน่ห์ของบทเพลงประท้วงที่ผลิตขึ้นมาในแบบใต้ดินอย่างแท้จริง ไร้นามไร้หน้าตาของคนสร้างงานแต่เปี่ยมด้วยพลังและแรงอัดของถ้อยคำและการเล่าเรื่องที่ยังคงมีอิทธิพลในรากเหง้าของบทเพลงชาวบ้านในประเพณีนิยมหรือเทรดิชั่นของไทย มาประยุกต์ให้เข้ากับร่องเสียงหรือกรูฟ (Groove) รวมทั้งจังหวะที่ทันสมัยออกมาได้คมคาย
แม้บทเพลงจะมีความยาวถึง 10 นาทีกว่า สามารถรับฟังและติดตามเนื้อหาที่นำเสนอได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่น่าเบื่อ โดยเฉพาะท่อนสร้อยที่นำมาคั่นระหว่างการด้นสามารถจดจำและร้องติดปากพร้อมอมยิ้มกับคำผวนที่สัปดนแบบน่ารักได้ลงตัว
มีหลายๆ คนบอกว่า บทเพลง ‘ไอ้หน้าเหลี่ยม’ นั้นหยาบคาย หากว่ากันไปแล้วข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมนัก เพราะในสถานการณ์ที่เฉพาะหน้าและฉุกละหุกกับการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการที่มาในระบบทุนนิยมซับซ้อน แฝงและซ่อนรูปในคราบของนักบุญ ทั้งที่ข้างในเป็นซาตานหรือผีร้าย รวมถึงการถูกปิดกั้นและครอบงำสื่อสาธารณะทุกอย่าง บทเพลงที่ผลิตขึ้นมาแบบลับๆ ในกระบวนการทำเพลงแบบใต้ดินเช่นนี้ ย่อมเป็นกระบวนการที่ดีที่สุด
ประโยชน์ที่ได้รับอย่างเต็มที่ของกระบวนการผลิตเพลงแบบใต้ดินในห้วงเวลาที่กลไกอำนาจรัฐกำลังคุกคามอยู่นั้นก็คือ ความไม่มีตัวตนของคนทำงานสามารถทำให้เขียนเพลงออกมาได้อย่างเต็มที่ สามารถเปิดโปงหรือแฉความเลวร้ายของผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะเผด็จการที่มาใช้พ่วงด้วยกฎหมายในลักษณะ 2 มาตรฐาน นี่คือทางออกที่ดีที่สุด
ความแรงของเนื้อหาและถ้อยคำที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมในสถานการณ์ของบ้านเมืองที่อยู่ในสภาพอปกติ อยู่ในสภาวะอสมมาตร ไม่มีสมดุลของการใช้อำนาจในบ้านเมืองที่ถูกชี้นำโดยรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งต้องยอมรับว่า บทเพลง ‘ไอ้หน้าเหลี่ยม’สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนกระทบความรู้สึกของผู้ฟังเป็นวงกว้าง ปลุกให้ผู้คนที่ได้ฟังได้ตื่นรู้แสวงหาข้อเท็จจริงมาขยายเรื่องราวและความหมายในตัวเนื้อหาของเพลงที่ถูกนำเสนอออกมา เป็นการกระตุ้นให้ขวนขวายกับไปสู่การตรวจสอบนโยบายและบุคคลต่างๆ ที่ถูกนำมาเขียนปรากฏอยู่ในตัวเพลง
ความยาวเหยียดของบทเพลงนี้ ฟังอย่างไม่เบื่อหรือรู้สึกกระตุก ส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลินก็คือ ลักษณะการเล่าเรื่องแบบแฉด้วยอารมณ์ที่คุกรุ่นด้วยความไม่พอใจถึงสภาพที่เป็นไปในบ้านเมือง และมีท่อนสร้อยคั่นเป็นสะพานในแต่ละตัวบทเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ ด้วยการใช้ถ้อยคำเหน็บแนมกัดอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ มีการใช้คำผวนมายั่วล้อให้เกิดอารมณ์ขันแบบสัปดนนิดๆ จิตแจ่มใส
ที่สำคัญ บทเพลง ‘ไอ้หน้าเหลี่ยม’ มีเจตจำนงผลิตขึ้นมาเพื่อเผยแพร่โดยเฉพาะ ไม่มีเจตนารมณ์เพื่อการขาย สามารถดาวน์โหลดผ่านอินเตอร์เน็ตและก็อปปี้เพื่อแจกจ่ายเผยแพร่ได้อย่างเสรี
นี่คือบทเพลงประท้วงทางการเมืองในยุคทักษิโณมิคส์อย่างแท้จริง และอวลอบอายด้วยเสน่ห์จริตแบบไทยๆ อยู่อย่างเต็มเปี่ยม
ในที่นี้ มิต้องพูดถึงบทเพลงของม็อบเชียร์ทักษิณที่อยู่อีกด้านหนึ่ง ซึ่งผลิตทั้งวาทกรรมและบทเพลงมาเพื่อไล่ล้อวิ่งตามฝ่ายชุมนุมประท้วงขับไล่ทักษิณ ด้วยสามัญสำนึกเพียงดาดๆ ก็สามารถจับอารมณ์ความรู้สึกได้ว่าเป็นเพียงแค่ศิลปะในแนวโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ที่เน้นความบันเทิงซึ่งอยู่ในกระแสของสังคมทั่วไป
บทเพลงกู้ชาติหรือบทเพลงประท้วงทางการเมืองต้องเป็นบทเพลงและดนตรีที่กลั่นออกจากมโนสำนึก และจิตวิญญาณด้วยความรู้สึกอย่างจริงแท้ โดยไม่ได้ทำเพื่ออามิสสินจ้าง หรือเหลี่ยมคูทางการตลาดอันแพรวพราว การเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
และบทเพลงเหล่านี้ไม่มีกรอบจำกัดว่าจะจัดอยู่ในแนวเพลงไหนๆ หรือแนวดนตรีใดๆ คนดนตรีทุกคนล้วนมีสิทธิที่จะรักความเป็นธรรม รักชาติ รักแผ่นดิน
ซึ่งพลังจากบทเพลงจะขับพุ่งออกมาสะกดและครอบครองจิตใจของคนฟังได้อย่างทันที
อย่าลืมว่าศิลปะย่อมอยู่เหนือเพศ กฎ และค่านิยมของสังคม การวางกรอบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมานั้น อาจจะถือได้ว่าเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์อย่างร้ายแรง จะเป็นอันตรายต่อสังคมในระยะยาว
บทเพลงต่างๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมาในห้วงกาลยามนี้ ไม่ว่าจะออกมาจากฝ่ายไหนๆ ก็ตาม
คนฟังจะเป็นคนตัดสินเอง ไม่ต้องไปกลั่นกรองหรือตรวจสอบให้พวกเขา
นี่คือ เสน่ห์ของบทเพลงกู้ชาติขับไล่ทักษิณ เพื่อจิตวิญญาณประชาธิปไตย มุ่งสู่สังคมที่ดีงาม

คลื่นเพลงประท้วงกระแทกรัฐบาล

‘ประเทศไทย 2549’ รวมใจศิลปิน และ ‘ตะวันตกดิน’ แอ๊ด คาราบาว
การขึ้นเวทีของเหล่านักร้องนักดนตรีที่มารวมตัวกันด้วยใจด้วยการกิจกู้ชาติ เปิดแนวรบทางวัฒนธรรมด้วยดนตรีและเสียงเพลง ในช่วงตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2549 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันในพันธกิจของเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการขับไล่นายกฯ พ.ต.ท. ชินวัตรให้ลาออกจากตำแหน่ง
บนเวทีของพันธมิตรกู้ชาตินั้น แนวรบด้านดนตรีและบทเพลง ซึ่งถือว่าเป็นการรวมตัวของศิลปินเพลงเพื่อชีวิตซึ่งมาจากทั่วฟ้าเมืองไทยทั้งรุ่นใหญ่ รุ่นกลาง รุ่นเล็ก รวมถึงเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิตใต้ดินที่มาฝังตัวอยู่ในการชุมนุมประท้วงคราวนี้อย่างจริงจัง
การประเมินจากหลายๆ เสียงกล่าวตรงกันว่า ครั้งนี้มีวงดนตรีเพื่อชีวิตทั่วทุกสารทิศมารวมตัวกันขึ้นเล่นบนเวทีเดียวกันมากที่สุดกว่าครั้งไหนเท่าที่เคยเป็นมา ไม่ว่า คาราวาน, พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ, พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์, โฮปแฟมิลี่, คีตาญชลี, ซูซู, เศก-ศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง, มาลีฮวนน่า, ด้ามขวาน, ไทลากูน, ประทีป ขจัดพาล, แสง ธรรมดา ฯลฯ
แต่แนวรบทางวัฒนธรรมของเวทีพันธมิตรกู้ชาติกลับมีสีสันทางดนตรีและบทเพลงหลากสีสันพร่างพรายพรรณรายมากว่านั้น เรียกว่าตั้งแต่เพลงพื้นบ้าน 4 ภาค หมอลำ โนห์รา ลำตัด เพลงฉ่อยข้ามไปถึงแจ๊ซ, ฮิพ-ฮอพ, ฮาร์ดคอร์, อิเล็กทรอนิกา และคลาสสิค ไม่จำกัดจำเพาะอยู่เพียงแค่บทเพลงเพื่อชีวิตซึ่งผูกขาดในการเป็นบทเพลงประท้วงทางการเมืองอยู่เพียงฝ่ายเดียว
วงดนตรีหลายวงที่ไม่มีใครคาดคิด ได้แสดงพลังและจิตสำนึกทางการเมืองที่แจ่มแจ้งชัดเจนในการเลือกข้าง ไม่ซ่อนตัวหรือพยายามแสดงตัวเป็นกลาง อย่าง
สิบล้อ ที่มีฮิวโก้-จุลจักร จักรพงษ์ ที่ขึ้นมาเล่นบทเพลงประท้วงในสไตล์ร็อคแอนโรลกลิ่นอายทศวรรษที่ 70
คณาคำ อภิรดี-แอ๊ว แครี่ออน-พยัต ภูวิชัย ซึ่งมาขึ้นเวทีร่วมเล่นเพลงในสไตล์พ็อพอะคูสติคอันแสนไพเราะ
ดีเจ.ซี้ด-นรเศรษฐ หมัดคง ที่โชว์ซีนดีเจ. ในแบบอิเล็กทรอนิกาให้คนได้คลายตัวและหูผึ่งว่า บทเพลงเต้นรำดีดดิ้นตามผับเธคสถานบันเทิงอย่างนี้ สามารถข้ามพรมแดนมาสู่เพลงประท้วงทางการเมืองได้
วงอพาร์ทเมนท์คุณป้า วงดนตรีอินดี้ร็อคสุดเท่ของเด็กแนวและอินดี้ขึ้นเวทีนำดนตรีฟังค์ร็อคมากระจายสู่หูคนเรือนแสน
ไซโคสลิม วงฮาร์ดคอร์เมทัลซึ่งมีพื้นเพทางดนตรีจากดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมพ่วงวงพี.พี.ดรีม ฮิพ-ฮอพรุ่นใหม่มาช่วยแร็พเพิ่มอารมณ์กร้าวสะท้อนปัญหาบ้านเมือง
กุดจี่-พรชัย แสนยะมูล นักเขียนในแนวอารมณ์ดี ซึ่งออกงานเพลงกับค่ายสนามหลวงในเครือแกรมมี่ ก็กระโดดขึ้นมาขับกล่อมด้วยสไตล์ดนตรีอคูสติคพ็อพแบบสบายๆ แถมด้วยบทกวี
วงแม้นศรี เหล่าอาจารย์และศิษย์จากคณะดุยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็มาบรรเลงเพลงแจ๊ซให้รื่นรมย์
ซาวด์ อีลิเมนท์ ซีนดีเจ. ที่มาต่อเพลงในแบบฮิพ-ฮอพ และแด๊นซ์ที่แปลกหูออกไป
สาวสะดุ้ง คัฟเวอร์บทเพลงพ็อพยอดนิยมมาแปลงเนื้อใหม่ให้คึกครื้น
ณัฐ ยนตรรักษ์ มือเปียโนคลาสสิคที่มาบรรเลงผ่อนคลายอารมณ์ และอัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์มากำนัลโสตให้กับผู้คน
บราวน์ ซูการ์ แจ๊ซ แบนด์ เล่นแจ๊ซขับกล่อม
บรรณ บราซิล นำดนตรีพ็อพ-บอสซาโนว่าแบบไทยๆ มาร่วมแสดง
วงสลัด เล่นดนตรีพ็อพที่มีกลิ่นอายของฟังค์กี้ร็อคที่แปลกหูออกไปอย่างใจถึง
บรรเลงกู่เจิ้ง โดยลูกสาวของอาจารย์อำนาจ เย็นสบาย ผู้มีชื่อเสียงในวงวิชาการของวงการศิลปะเมืองไทย และเป็นนิสิตสาวคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มาแสดงจุดยืนทางการเมืองบรรเลงดนตรีจีนแบบสบายอารมณ์
วงชาวเกาะ วงดนตรีไทยประยุกต์ที่มีลีลาไม่บันเบา
วงกอไผ่ ที่มีแกนนำคืออาจารย์อานันท์ นาคคง ผู้สันทัดกรณีทางดนตรีไทยแห่งจุฬาฯ นำวงดนตรีไทยมาสร้างสีสัน
ฯลฯ
ท่ามกลางความคึกคักของแนวรบด้านวัฒนธรรม พลังแห่งดนตรีและบทเพลงที่หลากหลายบนเวทีพันธมิตรกู้ชาติ ก็มีหลายเสียงถามถึงและเรียกหายืนยง โอภากุลหรือแอ๊ด คาราบาว นักเพลงเพื่อชีวิตระดับตำนานของเมืองไทยอีกคนอย่างหนาหูว่า การเคลื่อนไหวทางสังคม-การเมืองที่ยิ่งใหญ่ระดับชาติ เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม โดยปกติเขามักจะเป็นหัวหอกอยู่เสมอตั้งแต่ในอดีตที่เป็นมา
การที่เขาไม่ออกมาเคลื่อนไหวในครั้งนี้ สามารถหาเหตุผลและความในใจของแอ๊ด คาราบาว ได้ในบทความ ‘ทางออกของจิตวิญญาณ’ นิตยสารสีสัน ปีที่ 17 ฉบับที่ 9 2549 ซึ่งเป็นการเปิดเผยเป็นลายลักษณ์อักษรของแอ๊ด คาราบาวเอง
อัลบั้ม ‘แมงฟอร์ซวัน’ ของแอ๊ด คาราบาวที่ออกวางจำหน่ายเมื่อเดือนมีนาคม 2549 คอเพลงของคาราบาวและคนฟังเพลงทั่วไปพยายามค้นหานัยทางสังคม-การเมืองผ่านงานเพลงในชุดนี้กันว่า แอ๊ด คาราบาวจะแสดงจุดยืนทางการเมืองไปในฟากใดหรือทิศทางไหน
แต่แล้วก็มีความชัดเจนขึ้นมาอย่างไม่ต้องตั้งคำถามกันอีกต่อไป เมื่ออัลบั้ม ‘ตะวันตกดิน’ ที่ออกวางจำหน่ายหลังสงกรานต์ในเดือนเมษายน 2549 ก็กระจ่างแจ้ง และได้แสดงกึ๋นและฝีมือในการเขียนเนื้อร้อง-ทำนอง-การเรียบดนตรีและเสียงประสาน ซึ่งบ่งบอกได้ว่า แอ๊ด คาราบาว ยังยอดเยี่ยมในการเขียนเพลงประท้วงเพื่อให้กลมกลืนสอดคล้องเข้ากับสถานการณ์ได้ลงตัว มาตรฐานฝีมือไม่เคยตกลงไป เพียงแต่จะใช้ในมุมไหน และอยากให้ออกมาในรูปใดก็เท่านั้นเอง
หากไม่นับการเคลื่อนไหวบนเวทีพันธมิตรกู้ชาติ หลังจากที่นายกฯ รักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรได้ประกาศเว้นวรรคทางการเมือง ก็มีอัลบั้มเพลงประท้วงทยอยกันออกมา นอกจากอัลบั้ม ‘ตะวันตกดิน’ ของแอ๊ด คาราบาวที่แสดงจุดยืนทางการเมืองของตัวเองแล้ว ก็มีอัลบั้มรวมเพลงประท้วงทางการเมืองในยุคปัจจุบัน ‘ประเทศไทย 2549’ ซึ่งเป็นการรวบรวมงานเพลงของ แอ๊ด คาราบาว, คณาคำ อภิรดี, มาลีฮวนน่า, เล็ก คาราบาว, แฮมเมอร์, เทียรี่ เมฆวัฒนา, พยัต ภูวิชัย, สิบล้อ, ดุก คาราบาว, ศุ บุญเลี้ยง และดีเจ.ซี้ด ที่คัดสรรขึ้นมาเพื่อสถานการณ์บ้านเมืองวิกฤตในเวลานี้โดยเฉพาะ ซึ่งนักร้องหรือวงดนตรีบางส่วนก็ขึ้นเวทีพันธมิตรกู้ชาติและบางส่วนก็ไม่ขึ้นเวที โดยรายได้จากการจัดจำหน่ายก็นำไปสมทบทุนเพื่อการกุศลให้เด็กด้อยโอกาส
นอกจากนี้ ทองกราน ทานา สมาชิกวงคาราวาน ซึ่งเป็นผู้ดูแลนักร้องนักดนตรีก็มีโครงการผลิตอัลบั้มที่บันทึกบทเพลงใหม่ของบรรดานักร้องและวงดนตรีที่แต่งขึ้นมาเพื่อร้องและบรรเลงในเวทีพันธมิตรกู้ชาติ เพื่อเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์สังคมผ่านบทเพลงไปด้วยในตัว
คลื่นของบทเพลงประท้วงทางการเมืองในยุครัฐบาลทักษิณรอบที่ 2 ที่มีการฉ้อราษฎรบังหลวงกันอย่างมหาศาลในระดับนโยบาย รวมถึงการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจตัวเอง ไม่นับการนำทุนต่างชาติเข้ามายึดครองกิจการหรือธุรกิจที่สำคัญของชาติได้เข้มข้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดนตรีและบทเพลงประท้วงทางการเมืองในยุคนี้ก็ยิ่งทวีความเข้มแข็ง และแสดงจุดยืนของตัวเองอย่างแจ่มแจ้งถ่องแท้ออกมา

บทสรุปที่ยังไม่สรุป

‘บทเพลงคนกู้ชาติ’ ยุคสมัยแห่งความก้าวหน้าของบทเพลงจิตสาธารณะ…จริงหรือ???
การไฮปาร์คและการเสวนาบนเวทีที่แน่นหนาด้วยข้อมูลจะคั่นด้วยดนตรีและบทเพลงนับเป็นวัฒนธรรมที่พิเศษและมีเฉพาะในสังคมไทย แนวรบด้านวัฒนธรรมของบทเพลงประท้วงทางการเมืองแม้จะรับอิทธิพลและแรงบันดาลใจมาจากตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม ขบวนบุปผาชนเบ่งบานในยุคทศวรรษที่ 60 แต่ได้คลี่คลายและสร้างแบบอย่างที่พิเศษขึ้นมา
โดยเฉพาะในการชุมนุมประท้วงขับไล่ทักษิณของพันธมิตรกู้ชาติในคราวนี้ เป็นการรับไม้มาจากครั้งเหตุการ์ 14 ตุลา 2516 เรื่อยมาถึง 6 ตุลาคม 2519 และต่อเนื่องมาจากพฤษภาทมิฬ การเปลียนแปรไทยของสังคมไทยที่เห็นได้ชัดก็คือ ความเข้มแข็งของกระบวนการภาคประชาชน การเมืองของประชาสังคมโดยเฉพาะชนชั้นกลางมีลักษณะที่โดดเด่นออกมาอย่างเห็นได้ชัด
การมาฟังการไฮปาร์คแม้จะอยู่ในสภาวะที่ตึงเครียดและล่อแหลมในการที่จะเกิดการปะทะกับอำนาจฝ่ายรัฐ รวมถึงการเผชิญหน้าทางความคิดของอีกกลุ่มก้อนที่มีจุดยืนและความคิดทางการเมืองอีกขั้ว กลับถูกทำให้เบาบางและอ่อนโยนลงด้วยหลักการชุมนุมประท้วงในแบบสงบ สันติ อหิงสา รวมถึงการใช้ความรุนแรงทางปัญญาดื้อด้านดื้อแพ่งแบบอารยะขัดขืน ทำให้กระบวนการสื่อความหมายต่างๆ ในสังคม (Signification) แสดงออกมาอย่างมีพลัง ซึ่งแน่นอน ดนตรีและบทเพลงประท้วงทางการเมืองในคราวนี้ก็ถือเป็นปัจจัยและกลจักรที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกับการเคลื่อนไหวในส่วนอื่นๆ
หากนำเอาแนวคิดของนพ.เหวง โตจิราการ ที่ได้ปาฐกถาเรื่อง ‘จุดประกายคีตดนตรีเพื่อจิตสาธารณะ’ ในการสัมมนาระดมความเห็นพัฒนาและขับเคลื่อนโครงการคีตดนตรีเพื่อจิตสาธารณะ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2548 ณ ศูนย์การเรียนรู้ สนง.ปฏิรูปที่ดิน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีสาระสำคัญถึงความหมายของ ‘จิตสาธารณะ’ ในบทเพลง ซึ่งวางกรอบไว้คือ
'เพลง' เป็นผลิตผลในระดับที่สูงขึ้นของอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของสมอง และรวมไปถึงจิตวิญญาณหรือสำนึกในระดับสูงของมนุษย์ด้วย ด้วยความจำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะใหญ่ๆ เพื่อต่อสู้ให้อยู่รอดได้ในธรรมชาติ
มนุษย์จึงจำเป็นที่จะต้องสร้าง ‘ภาษา’ ขึ้นเพื่อสื่อสารกันและเป็นการถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์กันระหว่างกลุ่มเผ่าและรุ่นต่อไป การสื่อสารนอกจากจะใช้ภาษากันแล้ว ยังใช้ ‘สัญญาณเสียงที่มีจังหวะ มีความเป็นระเบียบกฎเกณฑ์’ กันอีกด้วย
'เพลง' จึงน่าจะได้กำเนิดขึ้นไล่เลี่ยกับการกำเนิดภาษาของมนุษย์ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า 'เพลง' นั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ผลิตหรือสร้างขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกันเพื่อใช้แรงงาน, รวมตัวกันในการต่อสู้กับชนเผ่าอื่น หรือสัตว์ร้าย หรือเอาชนะภัยพิบัติธรรมชาติ หรือกระทั่งแสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกต่อบุคคลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความรัก เศร้าอาลัย โหยหา ความโกรธเกลียด ทำลายล้าง การโหมปลุกเร้าในการต่อสู้ต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้น 'เพลง' จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นอย่างมีจุดมุ่งหมาย ไม่ว่าจะโดยสำนึกหรือไม่ก็ตามของผู้สร้างสรรค์ 'เพลง' นั้นขึ้นมา จุดมุ่งหมายดังกล่าวจึงอาจจะแบ่งโดยอาศัยผลสะเทือนของ 'เพลง' นั้น ที่มีต่อมนุษย์ว่าเป็นไปเพื่อบรรลุจุดประสงค์ในขอบเขตที่กว้างขวางใหญ่โต หรือขอบเขตแคบๆ ในเรื่องระหว่างบุคคล หรือกลุ่มบุคคลเล็กๆ เท่านั้น
ตรงนี้เองที่ศัพท์บัญญัติของคำว่า ‘จิตสาธารณะ’ จึงเกิดมีขึ้น และเข้ามามีบทบาทในเรื่องของ 'เพลง' หรือคีตศิลป์ กล่าวคือ เป็น 'เพลง' หรือคีตศิลป์ ที่ถูกสร้างสรรค์เป็นผลิตผลมาจาก 'จิตสาธารณะ' หรือเป็นไปเพื่อผลักดัน ก่อให้เกิดมี 'จิตสาธารณะ' ขึ้นในมวลหมู่มนุษย์ที่เสพรับผัสสะจาก 'เพลง' หรือคีตศิลป์ นั้นๆ หรือไม่
ความหมายของ 'จิตสาธารณะ' อย่างกว้างน่าจะหมายถึง
1. อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด จิตสำนึกที่เป็นไปเพื่อเป็นประโยชน์ เกื้อกูล ส่งเสริม สนับสนุน สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนคนหมู่มาก
2. ให้กำลังใจ ให้ความอบอุ่น ให้แรงบันดาลใจ แก่ผู้คนในการต่อสู้เพื่อเอาชนะอุปสรรคในชีวิตของตน เพื่อจะได้ดำรงตนอย่างปกติสุขในสังคมชุมชน และเข้าร่วมในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่ชนในวงกว้าง
3. ในขณะเดียวกันอาจจะหมายรวมถึง บทบาทในการลดทอนอำนาจของกิเลสตัณหาต่างๆ ที่เพิ่มความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องตัวกูของกู โลภะโทสะโมหะของปัจเจกชนให้มากมายยิ่งขึ้นไปด้วยก็ได้ เพราะหากเพลงหรือคีตศิลป์เป็นไปในทำนองเชิดชู ส่งเสริม เรื่องกิเลสตัณหาต่างๆ มนุษย์ก็จะถูกมอมเมาให้หลงหัวปักหัวปำในกองกิเลสต่างๆ แล้วก่อให้เกิดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ซึ่งก็คือสังคม หรือสาธารณชนให้เกิดความเดือดร้อนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
4. ในขณะเดียวกันก็อาจจะกล่าวขวัญถึงสังคมอุดมการณ์ หรือสภาพอันเป็นที่พึงปรารถนาร่วมกันของมนุษยชาติโดยรวม ซึ่งสำหรับชาวพุทธเราอาจจะเรียกว่า 'สังคมพระศรีอาริย์' หรือศาสนิกอื่นก็อาจจะเรียกกันในชื่ออื่น แต่โดยเนื้อแท้แล้วก็มีความหมายตรงกันคือ มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีการเบียดเบียนกัน มีความอุดมสมบูรณ์ในโภคทรัพย์ ทุกคนต่างมีจิตสำนึกที่สูงส่ง ไม่มีความเห็นแก่ตัวเหลืออยู่แม้แต่น้อยนิด ไม่ว่าในระดับปัจเจกชนหรือสังคมก็ตาม
ความหมายและคำนิยามของบทเพลงเพื่อจิตสาธารณะก็คงครอบรวมมาถึงดนตรีและบทเพลงประท้วงทางการเมืองของเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงเหล่าคนดนตรีที่มีจุดยืนเดียวกันในทางการเมือง แม้ไม่เข้าร่วมกระบวนการด้วยเหตุผลเชิงซ้อนทับในรายละเอียดที่อ่อนไหวก็ตาม
ซึ่งทั้งหมดทั้งนั้นก็ต้องยอมรับข้อจำกัดของบทเพลงประท้วงทาการเมืองที่คิดเขียนขึ้นตามสถานการณ์บีบรัดย่อมจะหาความสมบูรณ์พร้อมอย่างเต็มรูปแบบคงยาก บางครั้งก็ไหลตามไปกับพลังทางสังคมที่อยู่นอกเหนือความตั้งใจของบุคคลในฐานะคนทำงานศิลปะจนเกินเลย บางครั้งก็ชื่นมื่นในการเก็บขยะทางความคิดที่เดินตามต้นแบบที่มาแต่ในอดีต บางครั้งก็เต็มไปด้วยความคิดที่ฟุ้งซ่านปราศจากพลังเพียงผลิตออกมาเพื่อรับใช้สถานการณ์ และบางครั้งก็ยึดมั่นอยู่กับทักษะที่ตลาดต้องการ
บทเพลงประท้วงทางการเมืองนั้น ย่อมหนีไม่พ้นกรอบของความสวยงามที่เปี่ยมด้วยเชิงชั้นทางดนตรีแต่ทว่าต้องเฉียบคมทางความคิดและมุมมองด้วย ดุลยภาพเหล่านี้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ได้ดีในช่วงเวลาสั้น แต่แท้จริงแล้วในทางตรงกันข้าม ข้อจำกัดเรื่องความเขม็งเกลียวในสถานการณ์ทางการเมือง และเงื่อนเวลาในการผลิตงานกับสร้างงานที่ดีและยอดเยี่ยมเป็นจำหลักของยุคสมัย สามารถฝังหยั่งลึกลงไปในสังคมสืบทอดสู่คนรุ่นหลังได้
จากแนวคิดของทฤษฎีโพสต์โมเดิร์นที่ชี้ว่า วาทกรรมเชิงอุดมการณ์มิใช่สัจจะ ถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับความรู้ บทเพลงประท้วงทางการเมือง ขับไล่ทักษิณที่อยู่ในกรอบความคิดนี้
ในยุคของสังคมที่เดินก้าวตามระบบทุนนิยม เสรีนิยมใหม่ และบริโภคนิยม กระบวนการต่างๆ ก็มีจุดอันตรายและเบี่ยงเบนที่จะทำให้วัฒนธรรมของเพลงประท้วงการเมืองอันลุ่มลึกกลายเป็นแค่ส่วนขยายของการตลาดที่มีอยู่ดาษดื่น
เพราะหากไม่เปี่ยมด้วยศรัทธาที่จริงแท้ ประชาชนที่ร่วมต่อสู้ และกาลเวลาจะเป็นผู้ตัดสินเอง
.........................................................

คือเขาใหญ่ที่ยืนยาว

คืนอดีตสู่...เขาใหญ่..อีกครั้ง


คืนอดีตสู่...เขาใหญ่...อีกครั้ง
มรดกไทยสู่...มรดกโลก



อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ 4 จังหวัด 11 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมวกเหล็ก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่องอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา อำเภอนาดี อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอปากพลีอำเภอบ้านนา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของไทย ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 และได้รับสมญานามว่าเป็น "อุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน"
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีเนื้อที่ปกคลุม 2,168 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบแล้ง ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบเขา ทุ่งหญ้า และป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ป่าดงดิบชื้น ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล พืชพรรณมี 3,000 ชนิด,นกมี 250 ชนิดและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 67 ชนิด ซึ่งได้แก่ ช้าง เสือ ชะนี กวาง และหมูป่า พบอยู่ตามทุ่งหญ้ากว้างทั่วๆ ไป
สถานที่ที่น่าสนใจในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และมีชื่อเสียง คือ น้ำตกเหวนรกที่ลึก 80 เมตร น้ำตกสาริกา
ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างชาติและคนไทยไปพักผ่อน เยี่ยมชมและพักค้างคืนอยู่เสมอๆ และสำหรับคนที่ชอบเดินป่าก็จะมีเส้นทางสำหรับการเดินป่า
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็น "มรดกโลกทางธรรมชาติ" จากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อกลุ่ม “ดงพญาเย็น-เขาใหญ่




@...หลังจากออกเดินจากงานมหกรรมดนตรีเพื่อธรรมชาติและชีวิต
ผมมีโปรแกรมพาคุณนายไปท่องไพรเขาใหญ่
มาเขาใหญ่ไม่ขึ้นเขาใหญ่...เหมือนมาไม่ถึงเขาใหญ่...
@...หลังจากผ่านด่านทางปากช่อง  โดยใช้สิทธิ์ที่เข้าชมงานดนตรีเมื่อคืน
เจ้าหน้าที่ให้เข้าฟรี...ถือว่าเป็นออฟชั่นที่ฝ่ายจัดงานมอบให้ทุกๆคนที่เข้าชมดนตรี
@...ผ่านด่านมาได้ก็แวะล้างหน้าล้างตา..ตรงหลังด่านนี้แหละ..ให้สบายตัวซะหน่อย
เสร็จแล้วก็ขับรถขึ้นเขาใหญ่กันเลย....

@..แวะจุดชมวิว...ระหว่างทาง

@...มีฝูงลิงคอยมาเดินริมถนนเพื่อรออาหารจากนักเดินทาง
ซึ่งผิดกฎธรรมชาติ และผิดกฎอุทยาน  จึงมีป้ายบอกกล่าวว่า..ในแต่ละเดือนได้จับ-ปรับ นักท่องเที่ยวที่ให้อาหารสัตว์ กี่ราย  และเป็นยอดเงินเท่าไหร่  ไว้ริมทางด้วย  เพื่อเป็นการเตือน ห้ามให้ อาหารสัตว์ เพราะจะทำให้พวกสัตว์ติดนิสัย  ไม่ไปหากินในป่าเขา  ตามธรรมชาติที่เขาควรจะเป็น...


@...เดินทางจนมาถึงที่ทำการอุทยาน
แวะหาความรู้ในนี้ดีกว่า...มีเรื่องราวมากมาย





@...นี่คือปืน...ที่จับได้จากพวกแอบล่าสัตว์

@...แล้วออกเดินทางต่อไปยังน้ำตกเหวสุวัต


@...มุมมองจากหน้าผาของน้ำตกด้านบน..

@...ย้อนอดีตกับเพื่อนๆๆเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ณ จุดเดียวกัน...

@...มุมมองด้านข้าง...ระหว่างเส้นทางเดินลงสู่ด้านล่าง



@...เนื่องจากคุณนายผมถอดใจไม่ยอมลงข้างล่าง...ซึ่งทางลงค่อนข้างชัน
แม้มีบันได คงกลัวเหนื่อย...ไม่เป็นไร..เก็บแรงไว้ไปลุยน้ำตกเหวนรกก็แล้วกัน...

@...เมื่อคุณนายไม่ยอมลง...ผมเคยมาเขาใหญ่หลายครั้ง
จึงขอนำภาพเมื่อ 4 ปีก่อนมาประกอบ  และเปรียบเทียบอดีตและปัจจุบันเหมือนเดิม หรือเปลี่ยนไป...

@...ออกเดินทางย้อนกลับมาเล็กน้อย  แล้วเลี้ยวซ้ายเส้นทางที่ไป จ.ปราจีนบุรี
เลี้ยวซ้ายมาไม่เท่าไรก็เลี้ยวซ้ายตามเส้นทาง3182 สู่เขาเขียว  เพื่อท่องเที่ยวผาเดียวดาย
@...ประมาณ 10 กม.ก็ถึงจุดจอดรถ  เพื่อเดินทางเขาไปชมผาเดียวดาย

@...จากมุมเดียวกัน  กับเพื่อนๆๆเมื่อ 4 ปีที่แล้ว...

@...ข้ามฝากจากลานจอดรถ  ก็สู่เส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ผาเดียวดาย








@...เดินมาไม่กี่นาที..ก็ได้ชื่นชมวิวธรรมชาติสวยๆๆ บริเวณหน้าผาเดียวดาย

@...ด้วยทำถ่ายรูปมาเรื่อยๆๆจนหารู้ไม่..พอมาถึงผาเดียวดาย  แบตตารี่หมดพอดี ฮา..เลยครับ
จะออกไปเอาที่รถก็ไม่ไหวแล้ว...เลยขอหารูปจากเว็ปไซต์สวยๆๆมาประกอบก็แล้วกัน..

http://www.pantown.com/data/13550/board3/34-20061205233034.jpg

http://www.thaimtb.com/webboard/195/97547-88.jpg

http://www.siamensis.orgwww.siamensis.org/images/webboard_images/TravelPics_reply_64414.jpg
@...ยังดี..ยังได้รูปนี้ที่หน้าผามา 1 รูป

@...ย้อนอดีต ณ จุดเดียวกัน เมื่อ 4 ปีที่แล้ว...


@...ชมวิวเป็นเวลาพอสมควร  แล้วก็เดินทางออก  อีกเส้นทางหนึ่ง
@...ไม่พลาดที่จะขับรถขึ้นไปอีกนิด แวะชมวิวที่
@..แล้วขับรถย้อนกลับตามเส้นทางเดิมที่มา ( 3182 )
จนมาตัดถนนใหญ่ สาย 0377 เลี้ยวซ้ายสู่ จ.ปราจีนบุรี
เส้นทางสายนี้ค่อนข้างขึ้นเขา - ลงเขา  คดโค้งมากกว่าเส้นทางด้านปากช่อง
@...เดินทางจนเกือบถึงด่านฝั่งปราจีนฯ  จะผ่านน้ำตกเหวนรก
เพราะฉะนั้นเราจึงแวะท่องเที่ยวน้ำตกเหวนรกซะหน่อย...

รอยคำรณ


คำรณ สัมบุญณานนท์ (7 มกราคม พ.ศ. 2463 - 30 กันยายน พ.ศ. 2512นักร้องลูกทุ่ง แนวเสียดสีการเมือง รวมทั้งเนื้อหาเพลงที่บอกเล่าถึงชีวิตชนชั้นล่าง ซึ่งถือเป็นยุคแรกๆ ของเพลงเพื่อชีวิต รวมทั้งเป็นแรงจูงใจให้กับวงดนตรีเพื่อชีวิตหลายๆวงในปัจจุบัน มีเพลงที่เป็นที่รู้จัก เช่น มนต์การเมือง ตาศรีกำสรวล คนบ้ากัญชา ตามน้องกลับนา ชีวิตครู คนขายยา คำสั่งพ่อ คนพเนจร ชายใจพระ กรรมกรรถราง คนแก่โลก คนไม่รักดี ชีวิตคนเครื่องไฟ ชีวิตช่างตัดผม ชีวิตบ้านนา เป็นต้น ( จากวิกิพีเดีย )
หากพูดถึง ยืนยง โอภากุล หรือ แอ็ด คาราบาว เพื่อน ๆ ทุกคนรู้จักกันดี ส่วนคำรณ สัมบุญณานนท์ หรือ ครูคำรณ ก็คือ IDOL ของพี่แอ็ด คาราบาวนั้นเอง
..........................................................................................................
ในปี 2537 อัลบั้มรอยคำรณ ก็เกิดขึ้นเนื่องจากคำชักชวนและไอเดียที่บรรเจิดของพยับ คำพันธุ์ เซียนพระ และเพื่อนสนิทรุ่นใหญ่ของแอ๊ด คาราบาว ข้างล่างคือความในใจของพี่แอ๊ด กับงานชุดนี้
.................การนำผลงานเพลงของครูคำรณ มาขับร้องใหม่ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยาก แต่ทำแล้วจะทำได้หรือไม่ต่างหากที่น่าพิจารณา สำหรับผลงานของผมชุดนี้ คือความพยายามบนพื้นฐานของความเคารพ ศรัทธา ครูคำรณเป็นที่ตั้ง หาได้เทียบเทียมผลงานเดิมได้เลย จึงเป็นการรำลึกความทรงจำเก่า ๆ ที่ยังสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันได้ดี แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมาก กว่า 40 ปี การเป็นนักเพลงที่ต่อสู้ เช่น ครูคำรณ ควรจารึกให้ลูกหลานได้รับรู้ผลงานในหลากหลายอารมณ์ รวมทั้งชีวิตที่ลุ่มดอน เด็ดเดี่ยว ตราบจนสิ้นลมหายใจ
ขอให้ดวงวิญญาณของครูคำรณจงได้รับการคาราวะจากผมและทีมงานคาราบาวด้วย ขอขอบพระคุณ พี่พยับ คำพันธุ์ผู้จุดประกายการทำผลงานชุดนี้และยังให้เกียรติขับร้องเพลง “ คนนอกสังคม ” และขอขอบพระคุณผู้ร่วมงานทุก ๆ ท่าน ทั้งเพื่อน ๆ ผู้ให้กำลังใจรวมทั้งผู้อุปการะมา ณ โอกาสนี้ด้วย
เคารพ เทิดทูน
( แอ๊ด คาราบาว )
..........................................................................................................
งานชุดนี้ได้นักดนตรีคุณภาพมากมายชนิดคับแก้ว
เป็นเกจิทางดนตรีหลายท่าน เช่น ลือชัย งามสม – รัศมี เทพกิจ – คำภีร์ นอสูงเนิน – ชูชาติ หนูด้วง – ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ – สุทิน ศรีณรงค์ – ฯลฯ จึงเหมือนเป็นการรับรอบคุณภาพงานภาคดนตรี ได้สมบูรณ์แบบมาก ๆ
ใครได้ฟังแล้วคงได้ชื่นชม ชื่นชอบ ทั้งเนื้อหาที่ถูกถ่ายทอดและงานดนตรีที่พิถีพิถันมากมาก
รายชื่อเพลง
1.หมอลำร็อค
2.ชีวิตคำรณ
3.กระท่อมกัญชา
4.บ้านยายหอม
5.คนแก่โลก
6.ชีวิตบ้านนา
7.น้ำตาทรพี
8.คนนอกสังคม
9.หวยใต้ดิน
10.รักสาวเมืองสิงห์
11.ชีวิตช่างตัดผม
12.เศรษฐีเงินถัง
13.มนต์การเมือง
14.ขวานทองของไทย
..........................................................................................................
ยุคนี้ มีรอยคำรณ โดยมีพี่แอ๊ด คาราบาว เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราว
อนาคต ก็น่าจะมีรอยชาย บ้างนะ เพราะพี่แอ๊ด